ประวัติพระราชอริยคุณาธาร (หล่ำยั่งยืน) ผู้สร้างโรงเรียนแกลง”วิทยสถาวร”
บิดาชื่อ ขุนคลังรัตน (แดง ยั่งยืน) และมารดาชื่อ นาง หอย ยั่งยืน มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 7 คน เกิดวันที่ 10 พฤษภาคม 2431 ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม 15 ค่ำ เดือน 6 ปีชวด
ที่บ้านพลงช้างเผือก ตำบลวังหว้า(ปัจจุบันตำบลทางเกวียน) อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
ชาติภูมิ
พระ ราชอริยคุณธาร (หล่ำ ยั่งยืน) เกิดในสมัยราชกาลที่ 5 ณ บ้านพลงช้างเผือก ตำบลวังหว้า อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2431 ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม 15 ค่ำ เดือน 6 ปีชวด สัมฤทธิศก (จ.ศ.1250) บิดาชื่อขุนคลังรัตน (แดง ยั่งยืน) มารดาชื่อนางหอย ยั่งยืน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 7 คน คือ
- เป็นหญิง ชื่อแสง
- เป็นหญิง ชื่อสาย
- เป็นหญิง ชื่อเหรียญ
- เป็นหญิง ชื่อเที่ยง
- เป็นชาย ชื่อเหล
- เป็นชาย ชื่อหล่ำ (พระราชอริยคุณาธาร)
- เป็นชาย ชื่อเหลื่อม (ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 7 ขวบ)
การศึกษา
เมื่อ เยาว์วัยได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่วัดพลงช้างเผือก พออายุได้ 13 ปี ไปเรียนต่อที่วัดโพธิ์ทองพุทธาราม ถึง พ.ศ.2446 จึงสำเร็จการศึกษาชั้นมูลฐาน ตามหลักสูตรของมหามกุฎราชวิทยาลัย ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ (ม.ร.ว. ชื่น สุจิตฺโต) สมัยที่ยังทรงสมณศักดิ์เป็นพระสุคุณคณาภรณ์และเป็นเจ้าคณะมณฑลจันทบุรี อำนวยการตั้งขึ้น
ต่อมาได้ศึกษาต่อตามหลักสูตรของกระทรวงธรรมการจนจบหลัก สูตรประโยคประถมศึกษา หลังจากจบการศึกษาแล้ว อายุ 16 ปี เริ่มรับราชการเป็นเสมียนฝึกหัดอยู่ที่ศาลยุติธรรมเมืองแกลง พออายุครบ 18 ปี ก็ได้รับบรรจุเป็นเสมียนอยู่ที่ศาลยุติธรรมเมืองแกลง ทำงานอยู่ 4 ปี จึงลาออกจากราชการเพื่ออุปสมบท
อุปสมบท
อุปสมบทเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2451 ณ พัทธสีมาวัดพลงช้างเผือก ตำบลวังหว้า (ปัจจุบันขึ้นกับตำบลทางเกวียน) อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
การศึกษาในระหว่างอุปสมบท เล่า ท่องสวดมนต์จบเจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน มนต์ผูกต่างๆ ถึงภาณยักษ์และปาจิโมกข์ กับทั้งได้ศึกษาพระธรรมวินัยจนแตกฉาน สามารถอบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์ให้มีความรู้ความสามารถเป็นอย่างดี
ตำแหน่งหน้าที่ในระหว่างอุปสมบท
- เป็นเจ้าอาวาสวัดพลงช้างเผือก และเป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่อ พ.ศ.2457
- เป็นรองเจ้าคณะแขวงแกลง เมื่อ พ.ศ.2458
- เป็นเจ้าคณะหมวดวังหว้า เมื่อ พ.ศ.2459
- เป็นครูใหญ่โรงเรียนแกลง ตั้งแต่ พ.ศ.2460 ถึง พ.ศ.2485
- เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2475
- เป็นผู้รั้งตำแหน่งเจ้าคณะแขวงแกลง เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ.2476
- เป็นเจ้าคณะแขวงแกลง เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2476
- เป็นกรรมการศึกษา เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2478
- เป็นผู้อุปาการะโรงเรียนประจำอำเภอแกลง เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2485
- เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2487
- เป็นเจ้าคณะจังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2487
สมณศักดิ์
- เป็นพระใบฎีกา ฐานานุกรมของพระครูสังฆการบุรพทิศ (ปั้น) เจ้าคณะแขวงแกลง เมื่อ พ.ศ.2458
- เป็นพระปลัด เลื่อนจากฐานานุกรมเดิม เมื่อ พ.ศ. 2470
- เป็นพระครูเจ้าคณะแขวง เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2476
- เป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูสังฆการบูรพทิศ ตำแหน่งเจ้าคณะแขวงแกลง เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2478
- เป็นพระครูเจ้าคณะจังหวัดชั้นโท เมื่อ พ.ศ.2487
- เลื่อนเป็นพระครูเจ้าคณะจังหวัดชั้นเอก เมื่อ พ.ศ.2492
- เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระอริยคุณธราจารย์ บริหารระยอง เขตต์สังฆปาโมกข์ ในตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2493
- เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่พระราชอริยคุณธาร บูรพชลธีสมานคุณวิบุลคณกิจสุนทรยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2504
ผลงานด้านพระศาสนาและสาธารณประโยชน์
- สร้างอุโบสถวัดพลงช้างเผือกสำเร็จเรียบร้อย เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2459
- สร้างหอสามัคคีธรรมวัดพลงช้างเผือก เมื่อ พ.ศ.2473
- เป็นผู้อำนวยการสร้างถนนจากวัดพลงช้างเผือก ดัดตรงไปถึงปากน้ำประแสร์ ยาวประมาณ 8 กิโลเมตร เมื่อ พ.ศ.2478
- สร้างกุฎีและบูรณะปฏิสังขรณ์กุฎีที่วัดพลงช้างเผือก ซึ่งชำรุดทรุดโทรมให้เป็นถาวรวัตถุต่อไป
- สร้างเมรุ (ฌาปนสถาน) ที่วัดพลงช้างเผือก เมื่อ พ.ศ. 2505 เป็นเงิน 74,000 บาท
- สร้างศาลาเพื่อเป็นที่พักผู้เดินทางหลายแห่ง
- เป็นผู้อำนวยการสร้างสะพานเพื่อสาธารณะประโยชน์หลายแห่ง
- บูรณะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถวัดป่าประดู่ โดยเปลี่ยนจากกระเบื้องซีเมนต์เป็นกระเบื้องเคลือบ ทาสีเพดานให้สวยงามยิ่งขึ้น และลงรักปิดทองพระประธานประตูหน้าต่างเสียใหม่
- สร้างเมรุ (ฌาปนสถาน) ที่วัดป่าประดู่ เงินประมาณ 90,000 บาท
10.บูรณะปฏิสังขรณ์วิหารวิหารเก่าแก่ของวัดป่าประดู่ ซึ่งชำรุดทรุดโทรม ให้มั่นคงแข็งแรงและสวยงามกว่าเดิม
11.สร้างซุ้มประตูและกำแพงวัดป่าประดู่ เป็นเงินประมาณ 200,000 บาทเศษ
12.สร้างกุฏิใหม่และบูรณะปฏิสังขรณ์กุฏิเก่าที่วัดป่าประดู่ ซึ่งชำรุดทรุดโทรมให้คงสภาพดีขึ้น
ผลงานด้านการศึกษา
- เป็นผู้ริเริ่มตั้งโรงเรียนแกลง ?วิทยสถาวร? และเป็นครูใหญ่มาตั้งแต่ พ.ศ.2460 ถึงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2485 จึงได้ลาออกเป็นข้าราชการบำนาญ เพราะได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัด และต้องไปประจำอยู่ที่วัดป่าประดู่ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง
- ชักชวนประชาชนให้ช่วยกันบริจาคทรัพย์สร้างหอประชุมโรงเรียนแกลง ?วิทยสถาวร? มีชื่อว่า ?หอประชุมอริยคุณธราจารย์?
- เป็นผู้ริเริ่มและเป็นผู้อุปการะจัดตั้โรงเรียนวัดพลงช้างเผือก เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2477
4.สร้าง อาคารเรียนโรงเรียนแกลง ?วิทยสถาวร? และสร้างโรงฝึกงาน รวม 3 หลัง (ขณะนี้รื้อถอนแล้ว 2 หลัง เพราะรัฐบาลได้ช่วยเหลือสร้างให้ใหม่) - เป็นหัวหน้าและผู้อุปการะสร้างอาคารโรงเรียนวัดพลงช้างเผือก รวม 10 ห้องเรียน
พระ ราชอริยคุณาธารเป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่ประกอบด้วยคุณธรรมความรู้อันประเสริฐ สมควรยกย่องสรรเสริญและเคารพบูชาอย่างสูงในด้านวัตรปฏิบัติ ท่านได้ศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานสม่ำเสมอตลอดมา เคยออกปฏิบัติธุดงควัตร ทำกิจสวดมนต์ไหว้พระเป็นพระจำทุกวัน ตลอดทั้งลงอุโบสถสังฆกรรมมิได้ขาด ในด้านการปกครองท่านประกอบด้วยพรหมวิหารธรรม ปราศจากอคติอบรมสั่งสอนภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา รวมทั้งกุลบุตรธิดาที่อยู่ในวัดและในโรงเรียน ให้ประกอบแต่คุณงามความดี มีความสามัคคีซึ่งกันและกัน จนเป็นทีเคารพนับถือของคนทั่วไป ท่านเป็นผู้ที่เห็นความสำคัญของการศึกษาเป็นอย่างมาก ให้ความสนับสนุนทุกด้าน เช่น เปิดโรงเรียนปริยัติธรรม แผนกธรรม แผนกบาลี สร้างโรงเรียนประถม โรงเรียนมัธยม และอุดหนุนเกื้อกูลศิษย์ในความปกครองให้ได้รับการศึกษาจนสำเร็จขั้นสูงมาราย ด้วยกัน
พระราชอริยคุณาธารป่วยเป็นโรงมะเร็งในลำคอ ได้ไปเยียวยารักษาโดยการฉายรังษีที่โรงพยาบาลศิริราชจนทุเล่าและปกติดีได้ ประมาณ 10 ปี ต่อมาโรคมะเร็งกำเริบขึ้นอีก จึงเข้าไปฉายรังสีอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่ทุเลา ประกอบกับฉันภัตตาคารไม่ใคร่ได้ จึงทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย จนขั้นสุดท้ายฉันไม่ได้เลย จึงได้มรณภาพลงด้วยอาการอันสงบเมื่อเวลา 03.05 น. ของวันที่11 พฤษภาคม พ.ศ.2505 (ถ้านับตามหลักโหราศาสตร์ ยังคงอยู่ในวันที่ 10 พฤษภาคม ซึ่งตรงกับวันเกิดของท่านพอดี) สิริอายุได้ 78 ปี